‘ปลูกความหวังจากผืนดินที่ขยันไถพรวน หล่อเลี้ยงอนาคตบนโต๊ะอาหารที่อุดมเลิศรส’ กรุงปักกิ่ง

พอได้อ่านคำประกาศเปิดรับสมัคร คนในกรุงปักกิ่งที่สนใจเช่าที่เพื่อดินปลูกผักของ Little Donkey Farm ซึ่งพี่นุช บุญญนุชช่วยแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทย 2 ประโยคสั้นๆ  แต่ได้แรงบันดาลใจมากมายที่จะเขียนเกี่ยวกับ City Farming ในปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้เมื่อปี 2016 อีกครั้ง พร้อมๆกับเรื่องราวการแบ่งปันผืนดินของคนกรุงเทพ ในกลุ่มสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง 2017 ที่กำลังเชื้อเชิญคนเมืองที่อยากปลูกผัก อยากทำเกษตรในเมือง แต่ติดปัญหาเรื่องไม่มีพื้นที่ ไม่มีเพื่อนร่วมคิด ไม่มีความรู้ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้ได้มาร่วมใช้ประโยชน์จากผืนดิน มาร่วมลงมือเรียนรู้  ลงมือทำ เพื่อสร้างพื้นที่อาหารที่ดีของพวกเขาไปด้วยกัน

หากเราจะพูดถึงการทำเกษตรในเมือง ที่บางแห่งก็เรียกว่า city farm, urban farm หรือ urban agriculture ซึ่งการทำเกษตรในเมืองนั้นก็มีหลากรูปแบบ หลายระบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นสวนผักในบ้าน สวนผักชุมชน สวนผักดาดฟ้า สวนผักแนวตั้ง ที่ส่วนใหญ่ก็จะเพาะปลูกกันในบ้าน พื้นที่สาธารณะของชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนองค์กรต่างๆ สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการทำเกษตร เพื่อเป็นพื้นที่อาหารของชุมชนให้คนในละแวกนั้น

ในกรุงปักกิ่ง ที่ทุกอย่างใหญ่กว่า โตกว่ากรุงเทพบ้านเรา 10 เท่า เพราะมีขนาดพื้นที่ 16,410.54 ตร.กม.  มีประชากร 21.73 ล้านคน ในขณะที่กรุงเทพ มีพื้นที่  1,568.73  ตร.กม.  ประชากร 5.69 ล้านคน จะด้วยความใหญ่โตของพื้นที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า ทำให้ในเมืองปักกิ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง อาคารสูง ถนนหนทาง ทางด่วนจำนวนมาก  ที่มาพร้อมๆกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติใหญ่ที่คนในปักกิ่งกำลังเผชิญอย่างที่เราทราบข่าวกัน และนี่เองอาจจะเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เราไม่ค่อยเห็นพื้นที่เกษตรกรรม การเพาะปลูกในตัวเมืองมากเท่าไหร่นัก  เมื่อปี 2016 เวลาเดินทางก็มักจะสอดส่ายสายตามองหาแปลงผักในเมือง อย่างที่เราทำกันในโครงการสวนผักคนเมือง(กรุงเทพ) แต่ก็หาไม่พบ  ทั้งที่เพื่อนคนจีนบอกว่า ตอนนี้คนปักกิ่งสนใจเรื่องอาหารออร์แกนิค อาหารสุขภาพ ระบบ CSA  และ Farmer market ก็เติบโตมากในกรุงปักกิ่ง แต่ทำไมถึงไม่มีพื้นที่เกษตรในเมือง!!

การทำเกษตรในเมือง หรือที่คนปักกิ่งเรียกว่า City Farming นั้น กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่รูปแบบการทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมือง หรือการปลูกผักในบ้าน ทำสวนผักดาดฟ้าอย่างที่เราเข้าใจกัน  แต่ City Farming ของกรุงปักกิ่ง เป็นลักษณะที่คนในเมืองออกไปเช่าที่ดินของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ หรือฟาร์มในพื้นที่ชานเมืองเพื่อทำการเพาะปลูก พร้อมๆ กับเป็นพื้นที่การทำกิจกรรมของครอบครัวและเพื่อนๆ ที่เดินทางมาเรียนรู้เรื่องราวมากกมายของอาหารและธรรมชาติ บนผืนดินที่พวกเขาเช่าเอาไว้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

Little Donkey Farm น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการบอกเล่าเรื่องราว ‘ปลูกความหวังจากผืนดินที่ขยันไถพรวน’ ของคนกรุงปักกิ่ง เพราะฟาร์มแห่งนี้ถือเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งแรกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชุมชน รัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา ในเดือนเมษายน 2008 โดยมีภารกิจสำคัญคือ การต้านทานนโยบายของรัฐบาลที่กำลังชักจูงชาวบ้านให้เดินทางออกจากชุมชน ออกจากฟาร์มของตนเองเพื่อไปทำงานในเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการเชื้อเชิญให้คนรุ่นใหม่ คนเมือง รวมถึงแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมือง มองเห็นความสำคัญของการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนและยึดมั่นในความรู้ด้านเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพิ่มความตระหนักในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน การพัฒนานิเวศเกษตรและชุมชน ที่จะร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่ดี การเชื่อมต่อการบริโภคเพื่อสุขภาพในเมืองที่อยู่บนฐานการผลิตสีเขียวของชนบท สร้างความไว้วางใจทางสังคม สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และการพัฒนาความช่วยเหลือทั้งในเขตเมืองและชนบทไปพร้อมๆ กัน

งานสำคัญๆที่ Little Donkey Farm ขับเคลื่อนเพื่อหวังจะสร้างรูปแบบทางเลือกสำหรับอนาคตที่เคารพสุขภาพ เคารพความสุขของมนุษย์ และเคารพสุขภาพของโลกใบนี้ ประกอบด้วย

  • CSA : การจัดส่งกล่องผักตามฤดูกาล เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสีเขียวกับผู้บริโภคในเมือง
  • City farming : การเปิดเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม สร้างประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้ของคนเมือง และอาสาสมัคร
  • การค้าที่เท่าเทียมกัน : ส่งเสริมให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม Farmer market
  • การศึกษาและการฝึกอบรม : จัดอบรม ฝึกงาน เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการเกษตรให้กับคนรุ่นใหม่  จัดบทเรียนสอนพลเมืองให้ดูแลอาหารและสิ่งแวดล้อมด้วยเทคนิคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้พวกเขานำประสบการณ์ ความรู้ที่ได้รับกลับไปปลูกพืชได้ดีขึ้นในดินแดนของตนเอง
  • บริการให้คำปรึกษา: การจัดการเกษตร การบริหารจัดการฟาร์ม การจัดการผลผลิจ ตลอดจน ตารางการทำงานสำหรับฟาร์ม

สำหรับการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมของคนเมือง  หรือ  City Farming นั้น  โปรแกรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนเมืองในปักกิ่ง  ที่พวกเขายินดีจ่ายเงินล่วงหน้า 1 ปี เช่าที่ดินใน Little Donkey Farm เพื่อปลูกผัก ทำเกษตรในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  พวกเขาจะเดินทางออกจากเมืองมุ่งสู่ผืนดินสีเขียวตั้งแต่เช้าตรู่พร้อมด้วยครอบครัว ที่มีตั้งแต่เด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ มาทำกิจกรรมเพาะปลูก ดูแลสวนผักของตัวเอง พูดคุย ทำอาหารทานด้วยกัน รวมถึงเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้กิจกรรมอื่นๆ ที่ฟาร์มจัดให้อีกมากมาย ทั้งศิลปะ งานไม้  จนตกเย็นพวกเขาจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำกลับไปทำอาหารที่บ้าน

สำหรับคนเมืองที่สนใจเช่าที่ดินสำหรับเพาะปลูกสร้างอาหารที่ดีของตนเองนั้น ทาง Little Donkey Farm ก็มีให้เลือกหลายรูปแบบตามความสนใจ ความถนัด และความมุ่งหวังต่อผืนดินนั้น

  • รูปแบบที่ 1  DIY farming    ค่าใช้จ่ายต่อปี: 1,500  หยวน  ขนาดพื้นที่   30㎡  มีทั้งหมด 200 แปลง  สิ่งที่ผู้เช่าจะได้รับ คือ ที่ดิน 30㎡; เมล็ดพันธุ์ผักตามฤดูกาล เมล็ดพันธุ์ผักท้องถิ่น ต้นกล้า ; ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่เกิน 150 กก.; น้ำเครื่องมือและเครื่องมือการเกษตรที่จำเป็น; คู่มือแนะแนวด้านการเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่น
    •  งานของผู้เช่า คือ : มาจัดการสวนของตัวเองทุกสัปดาห์ จนถึงการเก็บเกี่ยวโดยปกติแล้วสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้งโดยมากที่สุด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ในฤดูร้อน ทำตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของฟาร์มอินทรีย์
    • สิ่งที่ผู้เช่าจะได้เก็บเกี่ยว: ผัก ผลไม้อินทรีย์ทั้งหมดจากสวนของคุณเอง ซื้อสินค้าทั้งหมดของฟาร์มนี้ด้วยราคาสมาชิก ; แบ่งปันความสุขในฟาร์มกับครอบครัวและเพื่อนของคุณ
  • รูปแบบที่ 2 Trust land  ค่าใช้จ่ายต่อปี : 3,000  หยวน  ขนาดพื้นที่   30㎡  มีทั้งหมด 50 แปลง สิ่งที่ผู้เช่าจะได้รับ คือ ที่ดิน 30㎡; เมล็ดพันธุ์ผักตามฤดูกาล เมล็ดพันธุ์ผักท้องถิ่น ต้นกล้า ; ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่เกิน 150 กก.; น้ำเครื่องมือและเครื่องมือการเกษตรที่จำเป็น; คู่มือแนะแนวด้านการเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่น , สิ่งที่ฟาร์มเพิ่มเติมให้ คือ การชลประทานการจัดการ การตัดหญ้า  การฝึกอบรมการตัดแต่งกิ่ง และการฆ่าเชื้อโรค ผู้เช่าสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว แต่ฟาร์มจะช่วยกันเพาะปลูกในช่วงฤดูปลูกพืช ที่ผู้เช่าไม่สามารถดูแลได้  สิ่งที่ผู้เช่าจะได้เก็บเกี่ยว เหมือนกับ  รูปแบบที่ 1  DIY farming
  • รูปแบบที่ 3 VIP family garden  ค่าใช้จ่ายต่อปี : 12,000  หยวน  / 60㎡ มีทั้งหมด 20 แปลง ความพิเศษของรูปแบบนี้ คือ ผู้เช่าคุณสามารถออกแบบสวนของตัวเอง จัดทำตารางปลูกผักล่วงหน้า บอกชนิดผักที่โปรดปราน ที่เป็นผักในท้องถิ่น ตามฤดูกาล ซึ่งทั้งหมดผู้เช่าที่ดินสามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ และฟาร์มจะช่วยดูแล ส่งมอบผักสดจากสวนไปที่ประตูบ้านของผู้เช่าทุกสัปดาห์  แถมการันตรีว่าผู้เช่าที่ดินจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอินทรีย์ทั้งหมดจากสวนของตนเองเองไม่น้อยกว่า 250 กิโลกรัมในหนึ่งปี

ในทุกๆ ปี ที่ Little Donkey Farm จะเปิดรับสมัครคนเมืองที่สนใจอยากเช่าที่ดินสำหรับปลูกผัก นับตั้งแต่ ปี 2008 เป็นต้นมา สมาชิกก็เติบโตและขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 50 ราย เป็น 100 ราย และ 300 รายในปี 2016 สมาชิกบางรายยังคงเช่าผืนดินแห่งนี้ และไถพรวนความหวังของพวกเขานับตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน ผืนดินที่แบ่งให้เช่าแห่งนี้ไม่ใช่แค่อาหารอินทรีย์ที่สดใหม่เท่านั้น  แต่ยังเป็นพื้นที่ที่คนเมืองส่วนใหญ่ ได้หลีกหนีความวุ่นวายออกมาพักผ่อน ท่ามกลางธรรมชาติสีเขียว สิ่งแวดล้อมที่ดีที่พวกเขาอยากรักษาไว้ให้ใกล้กับเมืองที่เขาอาศัยอยู่มากที่สุด  การเรียนรู้ของครอบครัวที่จะได้อยู่ร่วมกัน  พวกเขาสามารถรู้จักกันและสร้างไอเดียใหม่ ๆ ร่วมกันได้ ‘เราเป็นเพื่อนกันที่นี่’

ตามเจตนารมณ์ที่พวกเขาได้ประกาศไว้ว่า

นี่คือเป้าหมายของชาวนาในเมือง
นี่คือสวรรค์ของเด็ก
ที่นี่เป็นโรงเรียนสำหรับเกษตรกรรายใหม่
เพื่อปลูกฝัง ให้เข้าใจการเกษตร รักชนบท  รักชาวนา

นี่อาจจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนเมือง ที่แสดงให้เห็นสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของที่มาของอาหาร ที่พวกเขาพร้อมที่จะลงทุนทั้งแรงเงิน แรงกาย แรงใจที่จะช่วยกันไถพรวนผืนดิน ปลูกความหวังจากผืนดินแห่งนี้ เพื่อหล่อเลี้ยงอนาคตบนโต๊ะอาหารที่อุดมเลิศรส’  ดูแล รักษา และพัฒนาพื้นที่อาหารของกรุงปักกิ่งให้ยั่งยืนต่อไป

ขอขอบคุณ

เรื่องราวการเรียนรู้จาก  Little Donkey Farm  กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน  พฤษภาคม 2016                      ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่   www.littledonkeyfarm.com

ตอนต่อไป เราจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชม  ‘ปลูกความหวังจากผืนดินที่ขยันไถพรวน หล่อเลี้ยงอนาคตบนโต๊ะอาหารที่อุดมเลิศรส’ กรุงเทพมหานคร กันนะคะ