ตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มเพาะปลูกเป็นหลักเป็นแหล่งเมื่อราว 12,000 ปีก่อน ชีวิตของมนุษย์ก็ผูกสัมพันธ์กับการทำเกษตรอย่างแนบแน่นเรื่อยมา ยิ่งเมื่อวิถีการปลูกข้าวก่อกำเกิดขึ้น มันก็ผันให้ชีวิตเราทั้งหลายกลายเป็นสัตว์สังคมอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยท้องนานั้นเป็นจุดตั้งต้นของชุมชน หมู่บ้าน ที่บ่มเพาะให้เกิดระเบียบกติกาทางสังคม ต่อยอดกลายเป็นวัฒนธรรมอันละเอียดลึกซึ้งที่หลอมรวมให้เราอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นมานับพันปี เรียกว่าผืนนาเป็นเหมือนห้องเรียนทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติก็คงไม่ผิด ยิ่งเมื่อพิจารณาลงลึกไปในวัฒนธรรมของแต่ละดินแดน ก็จะพบแก่นแกนอันสะท้อนความสำคัญของนาและข้าวคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียที่ข้าวเป็นพืชพรรณที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการดำรงชีพ ท้องนาจึงไม่ใช่เพียงพื้นที่การผลิต ทว่าเป็นพื้นที่ที่มีมิติของจิตวิญญาณแฝงเร้งอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน .ความผูกผันในระดับจิตวิญญาณนั้นปรากฏชัดผ่านความเคารพท้องนาและธรรมชาติที่คนในยุคสังคมเกษตรกรรมยึดถือ อาทิ ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ตามท้องนาป่าเขา มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ คำหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ ‘ขวัญ’ ซึ่งชาวจีนกวางตุ้งมีคำพ้องเสียงว่า ‘หวั่น’ อันหมายถึงจิตวิญญาณที่สถิตอยู่กับนานาสรรพสิ่ง หากขวัญหนีหายจากไป สิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจบุบสลายจนถึงแก่ความตายในที่สุด